วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจของจังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสถานที่


กองถ่ายทำภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


               กองถ่ายทำภาพยนตร์...ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายใต้การก่อสร้างและบริหารจัดการของ พร้อมมิตร ฟิล์ม สตูดิโอ (Prommitr Film Studio) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ในบริเวณกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างเจาะลึกพร้อมงานออกแบบและบรรจงสร้างทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ที่ผู้เข้าชมสามารถเดินเที่ยวชมสถานที่การถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงการร่วมกิจกรรมสนุกๆ และน่าประทับใจได้ตลอดทั้งวัน

แผนผัง กองถ่ายทำภาพยนตร์


 จุดที่ 1จุดต้อนรับนักท่องเที่ยวจุดที่ 7พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท
 จุดที่ 2บริเวณวัดมหาเถรคันฉ่องจุดที่ 8กิจกรรมขี่ช้าง ม้า นั่งเกวียน
 จุดที่ 3กำแพงเมืองหงสาวดีจุดที่ 9ท้องพระโรงหงสาวดี
 จุดที่ 4นิทรรศการภาพถ่าย
จุดที่ 10
โรงเก็บอุปกรณ์ประกอบฉาก
 จุดที่ 5สีหสาสนบัลลังก์
จุดที่ 11
จุดจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก
 จุดที่ 6คุกใต้ดิน


1. จุดต้อนรับนักท่องเที่ยว

               ก็เป็นธรรมเนียมที่ต้องเริ่มจากจุดนี้ กองถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ชาวไทย 100 บาท เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี 50 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท หมู่คณะลด 10% ใช้เวลาในการเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง - 2 ชั่วโมง การเยี่ยมชมกองถ่ายจะเป็นการเดินชมให้สวมรองเท้าที่เหมาะสม  พร้อมเตรียมอุปกรณ์กันแดด เช่น ร่ม หรือหมวกไปด้วย



2. บริเวณวัดมหาเถรคันฉ่อง

               มีทั้งโบสถ์วัดมหาเถรคันฉ่อง กุฏิวัดมหาเถรคันฉ่อง ห้องเก็บพระแสงปืนต้น มีฉากสำคัญๆหลายฉากถ่ายทำที่นี่ จำไม่ผิด ฉากแรกก็เป็นฉากเปิดตัวมหาเถรคันฉ่องกำลังนั่งสมาธิหน้าพระประธานองค์ใหญ่ แล้วพระนเรศกับเจ้าบุญทิ้งเข้ามานมัสการตามบัญชาของบาเยงนองเจ้า แต่เจ้าบุุญทิ้งปากพล่อยว่าเจอแต่พระแก่นั่งหลับเลยโดนปากะโหลกซะหนึ่งโป๊ก จุดเด่นของที่นี่เห็นจะเป็นพระประธานองค์ใหญ่ที่สร้างได้เหมือนพระหินอ่อนจริงๆ จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกองถ่ายทำที่ได้รับการสักการะอยู่ทุกวัน รวมทั้งการบวงสรวงก่อนถ่ายทำฉากสำคัญทุกครั้งไป แต่ท่านสร้างจากอะไรต้องไปสัมผัสกันเอาเอง อีกสิ่งหนึ่งคือ พระแสงปืนต้นกระบอกยาวที่สมเด็จพระนเรศวรยิงข้ามแม่น้ำสะโตงก็แสดงอยู่ที่นี่


พระประธานในโบสถ์วัดมหาเถรคันฉ่อง


กุฏิท่านมหาเภรคันฉ่อง


พระแสงปืนต้นในห้องเก็บสิ่งล้ำค่า


3. กำแพงเมืองหงสาวดี

               ถ้าปิดตาเดินเข้ามาจากทางเข้าแล้วเปิดตาที่นี่จะเผลอคิดว่ากำลังหยุดยืนอยู่หน้ากำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่เมืองมัณฑะเลย์ ในพม่าเลยเชียว เหมือนมากๆ ทั้งกำแพง คูเมือง และสะพานที่ทอดข้ามคูเมือง เมื่อเดินข้ามสะพานนี้ผ่านประตูเมืองก็จะเข้าสู่ฉากยิ่งใหญ่ของอาณาจักรหงสาวดี



4. นิทรรศการแสดงภาพถ่าย

               เดินผ่านประตูเมืองหงสาวดีเข้ามา จะเจอสิงห์คู่ตัวยักษ์ยืนโดดเด่นเป็นพนักงานต้อนรับ จากประตูเมืองทอดยาวถึงท้องพระโรงที่ตั้งสีหสาสนบัลลังก์ แต่ระหว่างทางซ้ายขวามีศาลาแสดงภาพถ่าย เป็นภาพนิ่งผลงานช่างภาพฝีมือเทพ คุณโอ ธนัตถ์ ที่ถ่ายภาพนิ่งของนักแสดง ในฉากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฝั่งซ้ายเป็นภาพนักแสดงชาย ฝั่งขวาเป็นภาพนักแสดงหญิง สวยงาม น่าประทับใจ




5. สีหสาสนบัลลังก์

               แล้วก็มาถึงฉากสำคัญอันอลังการ สีหสาสนบัลลังก์ ท้องพระโรงใหญ่ เป็นฉากในภาพยนตร์ ที่เห็นในจอเมื่อไหร่เป็นตื่นตาทุกครั้งไป ยิ่งเมื่อเหล่ากษัตริย์ ขุนนาง ออกฉากแต่งตัวเต็มยศมีเครื่อ'ประกอบฉากครบถ้วนยิ่งงามจับใจ


               ฉากท้องพระโรงนี้ท่านมุ้ยทรงตามรอยไปแกะแบบจากวัดชเวนันดอมณเฑียรทอง ร่องรอยสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่ท่านทรงอนุมาณให้เป็นแบบของพระราชวังบุเรงนอง ที่ปัจจุบันไม่เหลือต้นเค้าให้เป็นแบบ


              ณ ที่นี้เป็นจุดบริการแห่งหนึ่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรม จินตนาการตัวเองให้มีส่วนร่วมในฉากภาพยนตร์ โดยเลือกแต่งตัวอย่างตัวละครแล้วถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกกับฉากในละคร เลือกได้ตามต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นนเรศวร มณีจันทร์ ทั้งสาวไทย พม่า และมอญ ค่าบริการซื้อคูปองคนละ 150 บาท ได้รูปที่ระทึก 1 ใบ พร้อม CD บันทึกภาพตัวเองอีก 5 ภาพ



6. คุกใต้ดิน

               อยู่ในอาคารเดียวกับสีหสาสนบัลลังก์ สร้างอยู่ทางด้านขวา ฉากที่ชินตาในภาพยนตร์เห็นจะเป็นตอนที่เจ้าเมืองคังรวมทั้งลูกสาว คือ เลอขิ่นและบริวารถูกคุมขังอยู่ที่นี่ หลังจากที่พระนเรศรบชนะเมืองคังและกวาดต้อนเชลยมา



7. พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท

               ฉากนี้เป็นท้องพระโรงฝ่ายไทย ซึ่งตัวพระที่นั่งตัวจริงปัจจุบันก็ไม่มีให้เห็นแล้ว ถูกเผาราบทำลายไม่เหลือซาก เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ฉากภายในที่สร้างขึ้นแม้จะไม่โดดเด่นอันอลังการเท่าพระที่นั่งของทางฝ่ายพม่า แต่ก็วิจิตรไม่แพ้กันละเอียดอ่อนช้อยสมเป็นศิลปะของไทย เหตุการณ์สำคัญๆในฉากพระราชวังที่อยุธย ล้วนถ่ายทำที่นี่


               อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็ได้รับการจำลองมาแสดง เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่โดดเด่นสะดุดตานั่นก็คือ รูปปั้นทวารบาล หรือบางเสียงว่าเป็นพระอิศวรศิลปะขอม ที่เราไปยึดจากเขมร มาตั้งแต่สมัยเจ้าสามพระยาคราวไปตีนครวัด แล้วพม่าลูกน้องท่านบุเรงนองก็มายกไป แล้วพวกยะไข่ก็มาขนจากพม่าไปอีกทีคราวมาตีเมืองหงสา เอาไปถวายเป็นเครื่องสักการะพระมหามัยมุนี แล้วพระเจ้าปดุุุงกษัตริย์พม่าในยุคต่อมาก็ไปตียะไข่ ขนเอาพระมหามัยมุนีพร้อมกับเครื่องสักการะมาไว้ที่อมรปุระธานีจนปัจจุบัน รูปปั้นนี้ก็ยังมีอยู่ให้เห็นที่วัดมหามัยมุนี และน่าทึ่งที่ท่านมุ้ยท่านได้หยิบยกมาจำลองให้เห็นอยู่ในฉากด้วย



8. กิจกรรมขี่ช้าง ม้า นั่งเกวียน

               อีกจุดใกล้กับบริเวณพระที่นั่งสรรพเพชรปราสาทที่ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรม ทั้งช้าง ม้า หรือเกวียนเทียมวัวให้เลือกขี่เป็นวิธีเดินทางไปยังท้องพระโรงหงสาวดีฝ่ายใน ค่าบริการก็ตัวละ 300 บาท ม้าสามารถขี่ได้ 1 คน เป็นม้านักแสดง อาจอง สูงใหญ่ ไม่ใช่ม้าแกลบตามชายหาด ช้างสามารถนั่งได้ 2 คน ถ้าเป็นเกวียนสามารถนั่งได้ไม่เกิน 4 คน แต่ถ้าไม่ต้องการทางสถานที่ก็มีรถกอล์ฟให้บริการ 


               นั่งรถผ่านคู กำแพงประตู หอรบ ฝ่ายอยุธยาผ่านหมู่บ้านจำลอง มีทั้งบ้านไพร่ เศรษฐี ถนนราดคอนกรีตอย่างดี ซึ่งตอนที่ถ่ายทำทางทีมงานจะขนดินเข้ามากลบถนนให้เต็มบริเวณ เพื่อให้เห็นเป็นพื้นดินปกติตามแบบสมัยนั้น



9. ท้องพระโรง ฝ่ายในหงสาวดี

              ท้องพระโรงนี้งามวิจิตรไม่ผิดหวัง บรรจงสร้างไม่ต่างกับท้องพระโรงอื่นๆ ที่นี่เป็นฉากสำคัญ ของฝ่ายในหงสาวดี หลายฉากถ่ายทำที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นฉากพระสุพรรณกัลยาทาหน้าขาวเข้าถวายตัวกับบุเรงนอง ฉากพระเทพกษัตรีที่ถูกชิงตัวมาระหว่างเดินทางไปถวายตัวต่อพระเจ้าล้านช้าง ฉากพระสุพรรณกัลยาชักปิ่นปักผมมาแทงองค์ปลิดชีพต่อหน้าบุเรงนอง



10. โรงเก็บอุปกรณ์ประกอบฉาก

               ส่วนสนับสนุนสำคัญ อุปกรณ์ประกอบฉากที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ทั้งหลายทั้งปวงเก็บอยู่ที่นี่ แสดงให้เห็นชัดๆ จับต้องได้ ทั้งอาวุธ เครื่องแต่งกาย รถม้า รถศึก อ่าง ไห กระโถน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งจะต้องใช้อีกในการถ่ายทำภาคต่อจนถึงภาคจบ ดังนั้น ทุกอย่างจึงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้





11. จุดจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก

               ส่งท้ายด้วยการมาเลือกซื้อของที่ระลึกติดมือกลับบ้าน นอกจาก DVD CD ภาพยนตร์แล้ว ที่อยากแนะนำให้ซื้อไว้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ หนังสือที่ท่านมุ้ย หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงประพันธ์ถึงเบื้องหลังของการตามรอยแกะหลักฐาน รวบรวมข้อมูล ด้วยความยากเข็ญในอันที่จะประมวล ให้ภาพยนตร์เกิดเป็นรูปธรรม อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการวิเคราะห์ อ้างอิงของนักวิชาการหลากหลายสาขา รวมทั้งการเดินทางตามรอยเข้าถึงที่เกิดเหตุ หรือจะเลือกซื้อเป็น สารคดีที่ทำได้อย่างละเอียด สร้างความเข้าใจ ก่อนดูภาพยนตร์ ราคาก็ไม่แพงเพราะวางขายเท่าราคาท้องตลาด

การเดินทาง 
               กองถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 24 กิโลเมตร จากตัวเมือง ใช้เส้นทางกาญจนบุรี - เขื่อนศรีนครินทร์(ทาง 3199) ประมาณ 18 กิโลเมตร ถึงสี่แยกลาดหญ้า มีทางแยกขวาผ่านค่ายทหารไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงทางเข้าให้เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร (มีป้ายบอกทาง) หากเดินทางโดยรถโดยสาร มีรถสองแถวจากตัวเมืองถึงสี่แยกลาดหญ้า จากจุดนี้ต้องตกลงราคาและนัดคนขับรถให้ไปส่งที่กองถ่ายฯ และนัดเวลารับกลับ
                สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทพร้อมมิตร ฟิล์ม สตูดิโอ โทร. 034-532057-8 แฟ็กซ์ 034-532056 สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 02-7362300 เว็บไซต์ www.prommitrfilmstudio.com

อ้างอิง   http://www.thailandmgg.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=413130&Ntype=4
http://www.bsgolfclub.com/travel/prommit.html


สะพานมอญ


สะพานมอญสายสัมพันธ์ที่ซองกาเรียมิอาจขวางกั้น

                    เมื่อพูดถึงสังขละบุรีหลายๆคนต้องนึกถึงหลวงพ่ออุตามะ ผู้ริเริ่มก่อสร้าง สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นแน่ การเดินทางในทริปนี้ เมืองไทย.คอม จึงพาทุกท่านไปสัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนไทยและคนไทยเชื้อสายมอญที่ถูกแม่น้ำซองกาเรียขวางกั้น แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคด้วยสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเป็นสื่อกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ในนามของ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์”


               สังขละบุรี เมืองเล็กๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี เดิมทีเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วหากข้าราชการคนไหนถูกย้ายไปที่นั้นเท่ากับว่าเหมือนเป็นการลงโทษทางอ้อม ด้วยความห่างไกลความเจริญ ในยุคก่อนที่บ้านเมืองจะถูกกลืนกินด้วยสายน้ำของ เขื่อนเขาแหลม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนวชิราลงกรณ์ วิถีชีวิตผู้คนทั้งชาวไทย ไทยรามัญและชาวกะเหรี่ยง ยังคงใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสงบ ปกติอยู่ร่วมกันโดยไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น แต่สถานการณ์ทั้งหมดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นทำให้บ้านเมืองเดิมต้องย้ายหนีน้ำ ทั้งที่ว่าการอำเภอ ตลาดและวัดวังก์วิเวการามหรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ ก็ต้องย้ายขึ้นให้พ้นน้ำเช่นกัน แต่ด้วยการไฟฟ้าเห็นถึงความสำคัญของวัดทำให้ยกพื้นที่ดอนส่วนหนึ่งให้กับวัดและหลวงพ่ออุตตมะเองได้ให้ “ชาวมอญ” เข้ามาอยู่อาศัยจนในที่สุดชาวมอญเหล่านั้นก็ได้สัญชาติไทย


               ทางฝั่งวัดวังก์วิเวการาม คนส่วนใหญ่เป็นชาวมอญมีสะพานปูนเชื่อมระหว่างสองฝั่งที่ค่อนข้างไกลกับตัวเมืองทำให้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเท้าหลายชั่วโมง อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่ออุตตามะ ได้ไปยืน ณ ริมน้ำซองกาเรียและวาดรูปแบบสะพานไม้ โดยได้รับความร่วมมือของชาวบ้านทำให้เกิด “สะพานมอญ” สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 444 เมตร 2 ศอก เสาต้นใหญ่สูง 52 ศอก ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อ เพียงอยากย่นระยะทางในการเดินทางเพื่อสร้างความสะดวกให้กับคนในชุมชน
               เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมืองสังขละบุรีกลายเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนให้ความสนใจในนามของเมืองที่เงียบสงบ อากาศดี เมื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตพื้นเมืองของชาวมอญทั้งฝั่งวัดและฝั่งเมือง ซึ่งเราเองก็อยากไปสัมผัสกับบรรยากาศเช่นนั้นบ้าง ทำให้เราต้องขับรถจาก กทม. เดินทางสู่ สังขละบุรี จากกรุงเทพฯ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง จนถึงสังขละบุรีระหว่างทางตั้งแต่ป้ายแจ้งเตือนทางขึ้นเขา ตลอดสองข้างทางยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ธรรมชาติความสวยงาม ทำเอาดูจนเพลินและลืมไปเลยว่าระยะทางที่เราเดินทางเข้ามาใกล้ไกลขนาดไหน


               ตลาดสังขละบุรี เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ยังคงมีสิ่งที่สนองคนเมืองอยู่ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านสะดวกซื้อหรือร้านอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นสำหรับนักท่องเที่ยวหมดห่วงเรื่องพวกนี้ได้ เมื่อคืนเรานอนมองสะพานไม้กันที่ แพลุงเณร จนตอนเช้านี้เราตื่นมาก็ยังคงเห็นสะพานมอญเช่นเดิมในบรรยากาศที่เปลี่ยนไป มาถึงสังขละบุรีกันทั้งที่จะมานอนงัวเงียกันอยู่ทำไม รีบลุกขึ้นมาใส่บาตร เก็บภาพและหาอะไรกินกันดีกว่า บรรยากาศยามเช้าบน สะพานมอญ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ เริ่มคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามสะพานไม้เพื่อมาใส่บาตรพระในฝั่งวัด ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้ากว่าๆ พระเณรหลายสิบรูปเริ่มเดินเท้าทยอยมารับบาตรท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นเราได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญที่ทำให้เราเริ่มรู้สึกเลื่อมใสในความศรัทธาของพระพุทธศาสนา ในขณะที่นักท่องเที่ยวยืนใส่รองเท้ารอตักบาตรพระ ชาวมอญพื้นถิ่นกลับนั่งถอดรองเท้าที่พื้นและเมื่อเห็นพระใกล้เข้ามา “เขากราบลงที่พื้นนั้นด้วยจิตศรัทธา” นี่แหละครับเสน่ห์ชาวมอญจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา “อยู่ในที่ของเขา ทำอย่างวิถีของเขา แล้วเราจะได้สัมผัสสิ่งที่เขาเป็นอย่างแท้จริง”


               หลังจากที่ใส่บาตรพระในยามเช้าเสร็จสิ้น ผู้คนเริ่มหันหน้ามุ่งสู่ ตลาดวัดวังก์ เพื่อจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้ซึ่งมีอยู่อย่างครบครันทั้งของสดของแห้ง พืชผักและของใช้อื่นๆหากไปที่ตลาดสายๆ เราอาจจะผิดหวังเพราะตลาดจะวายหรือเลิกเก็บข้าวของกลับบ้านกันซะก่อน นอกจากที่ตลาดแล้วในชุมชนยังคงใช้ชีวิตที่ปรกติเช่นทุกวัน มีเพียงแต่เรานักท่องเที่ยวที่เป็นเสมือนเครื่องตกแต่งสีสันในชุมชนและเมื่อเดินเท้าไปเรื่อยๆมองบ้านที่เราเดินผ่านไปเรื่อยๆ ก็ไปเห็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าคืออะไร สิ่งที่เราเห็นเป็นทรงสี่เหลี่ยมยื่นออกมาจากหน้าบ้าน แต่ด้วยความสงสัยจึงขอถามสักนิดว่าคืออะไรมีกันทุกบ้าน ด้วยคำถามนี้เองทำให้เราได้ขึ้นไปถึงบนบ้านเพื่อให้เห็นกับตาด้วยคำเชื้อเชิญของเจ้าของบ้าน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือหิ้งพระที่มีอยู่ทุกบ้าน นี่แหละคือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แสงแดดเริ่มมา ในขณะที่เดินไปยังสถานที่ต่างๆในหมู่บ้าน ทำให้ท้องเริ่มร้อง หิวแล้ว หิวแล้ว แต่จะกินอะไรดี มาถึงสังขละบุรีทั้งทีเลือกกินอาหารพื้นเมืองของเขาดีกว่า คือ ขนมจีนเส้นสดกับน้ำยาหยวกกล้วย ป้าหยิ้น ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมอญ ที่สังขละบุรีแป้งขนมจีนถูกกดลงในน้ำเดือดเป็นเส้นสายแล้วจับใส่จานราดน้ำยาหยวกกล้วยที่คนเมืองคิดว่าหยวกกล้วยกินไม่ได้มีไว้ให้หมูกินเท่านั้น แต่ที่นี่หยวกกล้วยกินได้และเมื่อแปรรูปเป็นอาหารขนมจีนสดน้ำยาหยวกกล้วยด้วยแล้วละก็อร่อยเด็ดเลยทีเดียว


               หลังจากที่สนองปากท้องและเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ลุงเณรได้พาเราล่องเรือไปชมวิถีชีวิตของชาวมอญริมสองฝั่งน้ำและไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือ วัดวังก์เววิการามหลังเก่า (วัดจมน้ำ) ที่ช่วงหน้าน้ำจะถูกจมอยู่ภายใต้บาดาลแต่วันนี้วัดโผล่พ้นน้ำเพราะน้ำลงเยอะทำให้เราสามารถลงไปเดินชมได้ เสร็จจากวัดหลังเก่า เรามุ่งหน้าไปที่ทางรถไฟที่ญี่ปุ่นเคยสร้างไว้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงเนินหินทางรถไฟและไม้หมอนเพียงเล็กน้อยที่เราใช้เวลาเดินหาอยู่พักใหญ่ แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าทางรถไฟนี้ เมื่อก่อนเคยมีอยู่จริงแต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดินทางด้วยเรือกับแพลุงเณร เราได้แวะอีกสถานที่หนึ่งคือ วัดกะเหรี่ยง(วัดสุวรรณาราม) ซึ่งวัดนี้มีที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าวัดวังก์เววิการามหลังเก่า เมื่อน้ำขึ้นจะไม่สามารถมองเห็นวัดนี้ได้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อมาถึงสังขละบุรี คือการไปกราบไหว้ เจดีย์พุทธคยา เจดีย์สีทองอร่ามที่มองเห็นแต่ไกลบนยอดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วมือของพระพุทธเจ้า โดยเจดีย์นี้หลวงพ่ออุตตามะได้จำลองแบบมาจากประเทศอินเดียขนาด 1: 1 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์สักการะที่หลวงพ่อท่านสร้างเอาไว้ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้หลวงพ่อได้มรณะภาพลงแล้วแต่สังขารของท่านถูกบรรจุไว้อย่างดีภายในโรงแก้ว โดยได้รับการดูแลจากวังสระปทุม ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านที่ค่อยแวะเวียนไปกราบไหว้สักการะสังขารของหลวงพ่ออุตตามะเช่นเคย และนี่แหละครับคือความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ถูกเชื่อมโยงติดกับสะพานมอญ โดยมีซองกาเรียขวางกั้น ณ สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี











การเดินทาง
1.บริษัทขนส่ง (999) จำกัด ที่หมอชิต 2 ลงท่ารถสมาคมเกษตรกรสังขละบุรี
2.รถกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่สายใต้ลงขนส่งกาญจนบุรี ต่อรถตู้กาญจนบุรี – สังขละบุรี (034-513151)

แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ


น้ำตกเอราวัณ

                     น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงาม บนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตร ติดต่อกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆ ได้ 7 ชั้นเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เดิม มีชื่อว่า น้ำตกสะด่องม่องลาย ตามชื่อลำห้วยม่องล่ายซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขา ตาม่องล่ายใน เทือกเขาสลอบ สายน้ำจะไหลมาตามชั้นหินเป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร แบ่งออกเป็นชั้นใหญ่ๆได้ 7 ชั้น แต่ละชั้นมีีความสวยงามร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่า หลายชนิดบนคาคาคบไม้ สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง เสียงสาดซ่า คลอเคล้า ด้วยเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมี คุณค่าของป่าเขาลำเนา ไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่ความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตกลักษณะของน้ำตกชั้นที่ 7 ลักษณะสายน้ำไหลบ่า มองดูคล้ายกับหัวช้างเอราวัณซึ่งมี 3 หัว จึงกลายมาเป็นที่มาของชื่อน้ำตก จนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่า “น้ำตกเอราวัณ”

น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
               สิ่งที่รู้สึกได้เมื่อมาถึงยังบริเวณน้ำตก คือความเย็นสบายแต่เมื่อได้เห็นตัวน้ำตกก็ต้องตะลึงในความงามของตัว น้ำตกที่น้ำใสแจ๋ว มองเห็นตัวปลาแหวกว่ายไปมาใต้ผืนน้ำที่สะท้อนแสงเป็นสีฟ้าอมเขียวมรกตคล้ายน้ำใน สระว่ายน้ำ ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากลักษณะของภูเขาใน อุทยานฯเอราวัณ เป็นเป็นเทือกเขาหินปูนที่เกิดจาก การทับถมของ เปลือกหอย ปู หรือปะการังดังนั้นน้ำตกเอราวัณที่ไหลมาจากเทือกเขาหินปูนจึงมีสารละลายของ แคลเซียมคาร์บอเนต เจือปนอยู่ ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตนี้จะตกตะกอนในบริเวณที่มีน้ำไหลช้าหรือเป็นแอ่งน้ำ ทำให้ชั้นน้ำตกมีคราบหินปูนก่อตัว และหินปูนนี้สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่ออยู่ในรูปของสารละลายก็สามารถ ตก ตะกอนได้ น้ำตกหินปูนจึงมีน้ำใสในตอนบน และมีการตกตะกอนขุ่นในช่วงล่างของธารน้ำ เมื่อแสงส่องลงมาจะ ทำให้สะท้อนเป็นสีฟ้าหรือสีเขียวมรกตสวยงามมาก
แอ่งน้ำใสๆ
น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
              น้ำตกชั้นแรกมีชื่อว่าไหลคืนรัง" ชั้นที่ 2 ชื่อ "วังมัจฉา" ชั้นที่ 3 "ผาน้ำตก" ชั้นที่ 4"อกผีเสื้อ" ชั้นที่ 5 "เบื่อไม่ลง" ชั้นที่ 6 " ดงพฤกษา" และชั้นสุดท้ายชื่อว่า "ภูผาเอราวัณ"โดยน้ำตกแต่ละชั้นไม่ใช่มีแค่ชื่อที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น แต่น้ำตกแต่ละชั้นก็มีความ สวยงามที่แตกต่างกันออกไป สำหรับท่านที่ต้องการเยี่ยมชมน้ำตกทั้ง 7 ชั้นจาก ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการขึ้น - ลง
ซ้าย น้ำตกชั้นที่1, ขวา น้ำตกชั้นที่ 2
น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
               ทางอุทยานฯตั้งชื่อเช่นนี้ คิดว่าอาจจะเป็นเพราะน้ำตกชั้นนี้มีปลาอาศัยอยู่เยอะก็เป็นได้ ซึ่งปลาเหล่านี้คือ "ปลาพลวง" เป็นปลาน้ำจืดในตระกูลปลาตะเพียน ลำตัวสีน้ำตาลเขียว เกล็ดโต มีหนวดยาว 2 คู่ ตรงจงอยปาก และ มุมปาก ชอบอาศัยบริเวณธารน้ำตก ลำห้วย หรือธารน้ำที่ใสสะอาดมีพื้นเป็นกรวดหรือทราย ชั้นนี้มีสีของน้ำมี 2 สีอย่างเห็นได้ชัด คือน้ำสีฟ้าเขียวและน้ำใสๆตามปกติ ซึ่งปลาพลวงชอบจะอาศัยอยู่ในน้ำใสมากกว่า นอกจากนี้ที่น้ำตกชั้น 2 ยังมีความสวยงามของม่านน้ำตกที่เบื้องหลังสายน้ำตกที่ตกลงมากระเซ็นเป็นฝอยนั้นมี ผาลึกเข้าไปเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปหลังม่านน้ำตกนี้ได้
ซ้าย อีกมุมของน้ำตกชั้นที่ 2 , ขวา น้ำตกชั้นที่4
น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
                น้ำตกชั้นที่ 3 มีน้ำตกตกลงมาจากผาชันดังชื่อของน้ำตกชั้นนี้ว่า"ผาน้ำตก" จากนั้นก็เดินข้ามสะพานไม้ถัดขึ้น ไปเป็นน้ำตกชั้นที่ 4 "อกผีเสื้อ" ที่มีชื่อเช่นนี้ก็คงเพราะรูปร่างของหินที่อยู่ในน้ำตกชั้นนี้ มองดูคล้ายอกของผู้หญิง หรือถ้าเป็นอกผีเสื้อก็คงเป็น อกผีเสื้อสมุทร ที่มีน้ำตกไหลครอบคลุมหินกลมมน ก้อนใหญ่ 2 ก้อนดูแล้วนิ่มนวลสวยงามมาก
ระหว่างทางไปน้ำตก
น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
              ถัดมาเป็นน้ำตกชั้นที่ 5 ชื่อว่า"เบื่อไม่ลง" ด้วยลักษณะของน้ำที่ไหลตกลงมาตามชั้นหินเตี้ยๆหลายๆชั้นบวกกับน้ำ ที่มีสีฟ้าเขียวทำให้เกิดความสวยงามน่าหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปเป็นชั้น "ดงพฤกษา" ซึ่งอุดมไปด้วยแมกไม้ นานา พันธุ์แต่ดูไม่รกทึบส่วนชั้นสุดท้าย "ภูผาเอราวัณ" ที่ได้ชื่อเช่นนี้คงเนื่องมาจากว่าเมื่อน้ำตกไหล บ่าผ่านผา และชั้นหินบน ภูเขามองดูจากระยะไกลคล้ายกับหัวช้างเอราวัณซึ่งมี 3 หัว จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกชั้นที่ 7 และเป็นชื่อของอุทยาน แห่งชาตินี้ด้วย
น้ำตกชั้นที่ 5
น้ำตกเอราวัณน้ำตกเอราวัณ
              นอกจากนี้ทางอุทยานฯได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางอุทยานฯ ได้จัดเส้นทางไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการ ศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที คือ เส้นทางสายป่าดิบแล้งม่องไล่ - ระยะทาง 1,010 เมตร ลักษณะเป็นทางเดินเลียบลำห้วยม่องไล่ เริ่มจากสะพานค่ายพักไปบรรจบกับเส้นทาง ใน น้ำตกเอราวัณชั้นที่ 3 เส้นทางเขาหินล้านปี - ระยะทาง 1,940 เมตร เริ่มจากลานจอดรถไปบรรจบกับเส้นทาง สู่น้ำตกบริเวณสะพานของ น้ำตกเอราวัณชั้นที่ 4
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเวลา 7.30-16.00 น.
- ค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่ 40 บาท/คน เด็ก 20 บาท/คน
- รถกอล์ฟคิดค่าบริการเที่ยวละ 20 บาท/คน
              อุทยานแห่งชาติเอราวัณมีบ้านพัก เต็นท์และค่ายพักแรม มีร้านค้า ขายอาหารมากมายหลายร้านไว้บริการ นักท่องเที่ยว ติดต่อสอบ ถามรายละเอียดและสำรองที่พัก ได้ที่ฝ่ายบริการบ้านพัก ส่วนอำนวยการสำนักอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ิกรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223 , 5795734 หรือ 5614292 - 4 ต่อ 724,725 หรือติดต่ออุทยานแห่งชาติ โดยตรง อุทยานแห่งชาติเอราวัณต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 71250 โทรศัพท์ 0 3457 4222, 0 3457 4234   โทรสาร 0 3457 4288, 0 3457 4234  
หมายเหตุ: อุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้าไปในบริเวณน้ำตกเกินชั้น 3 เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดและ ความเป็นธรรมชาติเอาไว้
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว
                ไปตามถนนเพชรเกษมหรือไปตามถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง ถึงจังหวัด กาญจนบุรี รวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สำหรับการเดินทางจากตัวเมือง กาญจนบุรีไปยัง อุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ คือ เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงจังหวัด หมายเลข 3199 ถึง เขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อน ศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้า ไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 70 กิโลเมตร เดินทาง จากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ห่างจาก น้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อน ท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนน หมายเลข 3199 อีกประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงที่ ี่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ
2. โดยรถสาธารณะ 
              รถโดยสารธรรมดา/รถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 04.00-20.30 น. ถึง จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จาก สถานีขนส่งกาญจนบุรี หมายเลข 8170 กาญจนบุรี-เอราวัณ ออก ทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.20 น. เพื่อเดิน ทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณจากนั้นนั่งรถสายกาญจนบุรี - เอราวัณ ไปลงหน้าที่ทำการอุทยานแห่ง ชาติเอราวัณ แล้วเดินเข้าไปยังน้ำตกอีก 500 เมตร ค่าโดยสารรถประจำทาง 40 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที หรือออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ชั้น 1 ช่อง 21 สายกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โดย แวะจอดที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้น เดินทางโดยรถโดยสารประจำ ทางสายกาญจนบุรี-เอราวัณ เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
แผนที่ไปน้ำตกเอราวัณ



อ้างอิง  http://www.paiduaykan.com/76_province/central/kanjanaburi/arawanwaterfall.html


แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 


พระนาม  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 

พระราชประวัติ 
               สมเด็จพระญาณสังวร  พระนามฉายา สุวฑฺฒโน พระนามเดิม เจริญ คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชนกชื่อนายน้อย  คชวัตร พระชนนีชื่อนางกิมน้อย คชวัตร พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี และเมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติอีกครั้ง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะบรรพชาเป็นสามเณรทรงเรียนพระปริยัติธรรมและสอบไล่ได้ชั้นต่างๆ ในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศ พ.ศ  ๒๔๙๐ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโศภนคณะภรณ์ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๖ ทรงได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ชั้นหนึ่ง และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.  ๒๕๓๒ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

ผลงาน 
              ทรงประกอบพระกรณียกิจในด้านต่างๆ ได้แก่การศาสนา การปริยัติศึกษา การพระศาสนาในต่างประเทศ ตลอดจนด้านสาธารณูปการต่างๆ เป็นผลให้การพระศาสนาเป็นไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองมั่นคง ยังประโยชน์สุขให้บังเกิดแก่พุทธศาสนิกชนและประเทศชาติ

พระเกียรติคุณที่ได้รับ
 
พ.ศ. ๒๕๒๙    มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา
พ.ศ. ๒๕๓๒    มหาวิทยาลัยมหิดล  ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขา ศาสนาเปรียบเทียบ
พ.ศ. ๒๕๓๓    มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๘    มหาวิทยาลัยนเรศวร   ถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขา การบริหารการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๙    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา

อ้างอิง  http://www.watwangkhanai.com/kan3.html


แหล่งเรียนรู้ที่เป็นกิจกรรม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และประเพณี


ประเพณีสงกรานต์แห่ปราสาทผึ้ง วัดหนองปรือ



รูปแบบการจัดงาน : ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง ที่สืบทอดมายาวนาน การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การละเล่นพื้นบ้าน ชมการแสดงมหรสพ และร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ประเพณีการ แห่ปราสาทผึ้งของชาวหนองปรือเกิดขึ้นจากรากฐานความเชื่อของบรรพบุรุษของชาวหนองปรือที่มีเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ซึ่งมีความเชื่อว่าการได้ถวายน้ำผึ้งเป็นพุทธบูชาจะได้อานิสงส์ยิ่ง ตามที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติ จึงทำให้เกิดประเพณีการตีผึ้งขึ้นในเดือนเมษายน ชาวบ้านที่เป็นชายจะหยุดกิจการงานทั้งปวง เพื่อออกหาผึ้งและนำน้ำผึ้งมาถวายพระสงฆ์ ส่วนรังผึ้งชาวบ้านจะนำมารวมกันแล้วเคี่ยวทำเป็นเทียนจุดให้ แสงสว่างแก่พระสงฆ์เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้จุดให้แสงสว่างเวลาศึกษาพระธรรมในตอนกลางคืนหรือจุดบูชาพระ อีกส่วนหนึ่งจะนำมาทำเป็นปราสาท แกะสลักตกแต่งอย่างสวยงาม และแห่ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด
  
กิจกรรมภายในงาน : ได้แก่ การแห่ปราสาทผึ้งด้วยริ้วขบวนรถที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ริ้วขบวนของชุมชนต่างๆ การทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระที่วัดของชุมชน การแสดงการละเล่นพื้นบ้านที่หา ชมได้ยากเป็นการละเล่นประจำถิ่น การชมมหรสพดนตรี และการออกร้านจำหน่ายสินค้า เลือกหาเลือกซื้อได้อย่างมากมาย








อ้างอิง  http://www.wikalenda.com/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%9C%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-035081.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น